General

อันตรายจากการสัมผัสสัตว์น้ำมีพิษริมทะเล

สัตว์น้ำมีพิษ

การท่องเที่ยวทะเลนั้น นอกเรื่องของความสวยงามและการพักผ่อนหย่อนใจที่ดีต่อใจเหลือเกินแล้ว….. หลายๆ ท่านก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจติดตัวเกี่ยวกับเรื่องของ “สัตว์ทะเลมีพิษ” กันเอาไว้เสียหน่อยเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับทุกท่านนะครับ วันนี้เราเลยอยากจะมาบอกเล่าเกี่ยวกับ “อันตรายจากการสัมผัสสัตว์น้ำมีพิษริมทะเล” พร้อมกับเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องกันครับ จะเป็นอย่างไรกันบ้างนั้น…เราไปชมกันดีกว่าครับ

4 สัตว์น้ำมีพิษริมทะเล

  1. แมงกะพรุน (Jelly Fish) แมงกะพรุนทั่วไปมีรูปร่างคล้ายร่มหรือกระดิ่งคว่ำ ลำตัวโปร่งแสง บริเวณหนวดและแขนงที่ยื่นออกมารอบปากมีเข็มพิษ ที่ใช้ฆ่าเหยื่อหรือทำให้เหยื่อสบลก่อนจับกินเป็นอาหาร พิษของแมงกะพรุนจะทำให้เกิดอาการคัน เป็นผื่นบวมแดงและเป็นรอยไหม้ปวดแสบปวดร้อน ทำให้เกิดแผลเรื้อรังได้ แมงกะพรุนบางชนิดทำให้เกิดอาหารจุก หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก อ่อนเพลีย เป็นไข้ บางรายถึงขั้นเสียชีวิต หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำทะเลบริเวณที่มีแมงกะพรุนชุกชุม หรือช่วงหลังพายุฝน เพราะจะมีกะเปาะพิษของแมงกะพรุนหลุดลอยไปในน้ำทะเล หากถูกพิษของแมงกะพรุนไฟให้ใช้น้ำส้มสายชูล้างแผล หลังจากนั้นควรรีบไปพบแพทย์ นอกจากนี้อีกตำราที่มักใช้กันคือ นำผักบุ้งทะเลบดแล้วพอกตรงบริวเณที่สัมผัสแมงกะพรุน จะช่วยให้อาการต่างๆ บรรเทาลงได้
  2. ดอกไม้ทะเล (Sea anemone) ดอกไม้ทะเลเป็นสัตว์ที่มีลำตัวอ่อนนุ่ม มีหนวดเรียงรายอยู่รอบปาก ด้านล่างเป็นฐานยึดเกาะอยู่กับก้อนหิน ก้อนปะการัง หรือฝังตัวลงในพื้นทะเลบริเวณดินเลนหรือดินทราย หากเผลอไปสัมผัสกับหนวดของดอกไม้ทะเลซึ่งมีพืษ จะทำเกิดผื่นแดง ถ้าอาการรุนแรงมากจะทำให้บวมแดง มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน การรักษา ให้ใช้น้ำส้มสายชูล้างแผล พยายามเอาเมือกและชิ้นส่วนของหนวดดอกไม้ทะเลออกให้หมด ถ้ามีอาการทรุดให้รีบนำส่งแพทย์โดยด่วน
  3. บุ้งทะเล (Fire worms) บุ้งทะเลเป็นหนอนปล้องจำพวกเดียวกับแม่เพรียงหรือไว้เดือนทะเล แต่มีลำตัวสั้นกว่า ลำตัวของบุ้งทะเลมีขนยาวมาก ขนบุ้งเป็นเส้นแข็งและสามารถหลุดจากตัวบุ้งได้ง่าย สามารถแทงเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคันได้
  4. ปลาปักเป้า (Puffer fishes) ปลาปักเป้าเป็นปลาที่รู้จักกันดีว่ามีพิษโดยเฉพาะไข่ ตับ ลำไส้ ผิวหนัง ส่วนเนื้อปลามีพิษน้อย การกินปลาปักเป้า หากปรุงไม่ถูกวิธี จะทำให้พิษที่อยู่ในอวัยวะภายในปนเปื้อนเนื้อปลา เมื่อกินเข้าไปจะทำให้ได้รับพิษ จนเกิดอาการชาที่ริมฝีปาก มีอาการคัน แสบร้อนที่ผิวหนังและตา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน ขาอ่อนแรง หรือเกิดอัมพาตได้

ความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ฉี่ล้างพิษสัตว์ทะเลเป็นจริงหรือไม่?

ต้องขอตอบเลยว่าไม่จริงครับ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องที่สุดคือ ให้รีบหาน้ำสะอาดมาล้างหรือพยาบาลใช้ทรายถูบริเวณที่ถูกต่อย หลังจากให้ช้น้ำส้มสายชู ราดลงไปบนบริเวณที่สัมผัสต่อเนื่องอย่างน้อย 30 วินาที (ห้ามราดด้วยน้ำจืด) ล้างเมือกด้วยน้ำทะเล (หลีกเลี่ยงการขัดถูหรือขยี้หนวด) หากมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ใจเต้นผิดปกติหายใจลำบากหรือหมดสติควรรีบส่งโรงพยาบาล

แนวทางการป้องกันโดนแมงกระพรุนต่อยเบื้องต้น

  • ให้หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำในบริเวณและช่วงเวลาที่พบการเกยตื้นของสัตว์เหล่านี้
  • มองหาป้ายเตือนแมงกะพรุนและสถานที่ควรติดตั้งป้ายการปฐมพยาบาลและเสาน้ำส้มสายชู
  • ศึกษาหรือจัดอบรมให้ความรู้ ฝึกทักษะการปฐมพยาบาลและการกู้ชีพแก่อาสาสมัคร และเผยแพร่ความรู้ให้แก่ประชาชน

และนี้ก็คือเกล็ดความรู้เกี่ยวกับ “อันตรายจากการสัมผัสสัตว์น้ำมีพิษริมทะเล” ที่พวกเราได้รวบรวมมาฝากทุกๆ ท่านกันในบทความข้างต้นนี้กันครับ คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกๆ คนกันไม่มากก็น้อยกันน้า